นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เผยว่า ได้นำทีมกลุ่มนักธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (ฟินเทค) อาทิ ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย, ฉวีวรรณ เกียรติดุริยกุล กรรมการและทนายความหุ้นส่วน เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้ง Satang Pro สกลกรย์ สระกวี ประธาน กลุ่ม Bitkub S.Jack Heffernan ผู้ก่อตั้ง Knightsbridge Group และฐปนรรฑ์ ศรีบรรดิษฐ์ เจ้าของเพจ Lady Crypto เป็นต้น เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร และนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาฯ ก.ล.ต.
สำหรัลการเข้าพบครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ ให้ภาครัฐได้รับทราบทั้งอุปสรรคและโอกาส ซึ่งเชื่อว่าหากได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล จะทำให้อุตสาหกรรมนี้ เพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อีกมหาศาล โดยเฉพาะในภาคธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งมีศักยภาพ และโอกาสในการเติบโต แต่กำลังเผชิญกับอุปสรรคสำคัญเรื่องการจัดเก็บภาษี แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายมาแล้วถึง 3 ปี แต่ในทางปฏิบัติกลับยังไม่มีความชัดเจน
“ก็ได้เข้าพบครั้งเพื่อหารือในแนวทางการจัดเก็บภาษี ซึ่งทางกรมสรรพากรก็กำลังเร่งออกแนวทางการจัดเก็บอย่างเร่งด่วน แต่มองว่าอาจจะไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม เพราะการมาเร่งกระบวนการทำงานเพื่อหาข้อสรุปในระยะเวลาอันสั้นอาจได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยที่จะเกิดความยุ่งยากในทางปฏิบัติ อาจนำไปสู่ตัดสินใจย้ายไปเทรดในตลาดต่างประเทศแทน”
นายปริญญ์ กล่าวต่อว่า เมื่อมีการยกเว้นหรือชะลอการเก็บภาษีคริปโทออกไปก่อนอุตสาหกรรมจะเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงค่อยกลับมาพิจารณาการจัดเก็บภาษีนักเทรด ส่วนในแง่ของภาษีที่เก็บจากผู้ประกอบการ เมื่อถึงตอนนั้นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลก็จะแข็งแรงแล้ว รัฐบาลย่อมสามารถที่จะจัดเก็บภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากค่าธรรมเนียมการเทรดได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และอาจเป็นไปได้ที่จะมียอดจัดเก็บได้มากกว่าภาษีจากนักลงทุนรายย่อยด้วยซ้ำ
นายปริญญ์ กล่าวต่อว่า ไม่ใช่เพียงแค่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีคริปโทเท่านั้น ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตของอุตสาหกรรม แต่ยังรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี NFT (Non-Fungible Token) ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ส่งสัญญาณการเข้ามากำกับดูแล
“ตรงนี้มองว่ายังเร็วเกินไปเพราะเทคโนโลยี NFT เพิ่งจะเริ่มต้น การออกกฎหมายมาควบคุมจะทำให้อุตสาหกรรมหดตัวทั้งที่ยังไม่ทันได้เติบโต ผู้ประกอบการตลาด NFT อาจหนีไปต่างประเทศ คนซื้อขายก็จะไปใช้บริการตลาดต่างประเทศ เนื่องจากตลาดนี้ก็เป็น Global และต้องยอมรับว่าปัจจุบัน NFT คืออีกช่องทางในการหารายได้เพิ่มของศิลปินรายเล็ก ได้เข้ามาในพื้นที่นี้เพื่อสร้างรายได้ในโลกดิจิทัล”
อ้างอิง
https://siamrath.co.th