นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวเปิดการสัมมนา “ศักราชใหม่…ความหวัง (หรือแค่ฝัน) ประเทศไทย 2022” และกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “แรงขับเคลื่อนประเทศไทยในศักราชใหม่ 2022” ผ่านทางออนไลน์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะสามารถขยายตัวได้ระหว่าง 3.5-4.5% โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักคือ 1.ภาคการส่งออก 2.ภาคการท่องเที่ยว 3.ภาคการใช้จ่ายภาครัฐ และ 4.ภาคการบริโภคภายในประเทศ
ทั้งนี้โดยเชื่อว่าไทยจะสามารถส่งออกได้ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แม้ว่า ทั่วโลกจะประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ ส่วนการท่องเที่ยวนั้น จากรายงานของกระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬาระบุว่า หลังไทยเปิดประเทศมีจำนวนนักท่องเที่ยวผ่านระบบเทสต์ แอนด์ โก เข้ามาแล้ว 3-4 แสนราย แม้จะยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ แต่คาดว่า ในปี 2565 นักท่อจะทยอยเข้ามา ซึ่งขณะนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. มีมติให้กลับมาใช้มาตรการ เทสต์ แอนด์ โกโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 65 เป็นต้นไป
ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐนั้นจะมีเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในหลายส่วนทั้งจากงบลงทุนของรัฐบาลประมาณ 6 แสนล้านบาท งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3 แสนล้านบาท งบลงทุนในอีอีซีอีกราว 1 ล้านล้านบาท ฉะนั้น ในแง่การใช้จ่ายภาครัฐก็ยังเดินหน้าต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ภาครัฐเองก็ยังมีช่องว่างที่จะใช้มาตรการทางการคลังเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจและรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจได้ โดยรัฐบาลได้ขยายกรอบการก่อหนี้จาก 60% เป็น 70% ต่อ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ขณะนี้ ยังเหลือเพดานการก่อหนี้ได้อีกถึง 10% แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องกู้ครบ 70%
ขณะที่ในด้านการบริโภค รัฐบาลจะเดินหน้ามาตรการที่จะเข้าไปกระตุ้นการบริโภค โดยเน้นไปยังกลุ่มฐานราก ซึ่งขณะนี้ เรามีแผนที่จะเร่งออกโครงการคนละครึ่งเฟส 4 โดยเปิดลงทะเบียนในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 และ เริ่มใช้จ่ายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 อย่างไรก็ตาม แรงขับเคลื่อนด้านการบริโภคนี้ อาจจะทำได้ไม่เต็มที่ เพราะรายได้ของประชาชนยังไม่เต็มร้อย
สำหรับสิ่งที่ท้าทายการบริหารเศรษฐกิจในปี 2565 คือ 1.สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แม้จะมีการแพร่ระบาดได้รวดเร็ว แต่เชื่อว่า จะสามารถควบคุมได้ 2.การขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายมาตั้งแต่ปี 2563 และ 2564 ขณะนี้ กระทรวงแรงงานก็ได้เปิดรับคำขอแรงงานนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านแล้ว 3.สถานการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งเกิดจากราคาพลังงานและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามในเรื่องราคาสินค้านั้นยืนยันรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าไปกำกับดูแล ส่วนราคาพลังงานนั้น มอบหมายให้กระทรวงพลังงานไปดูแลไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลเกินกว่า 30 บาทต่อลิตร โดยมีกองทุนน้ำมันจะเข้ามาเป็นกลไกช่วยเรื่องของราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบระหว่าง 1-3% แต่บางช่วงอาจจะไปเกือบถึง 3% หรือเกินไปบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับราคาอาหารและพลังงาน แต่เราจะพยายามดูแลให้อยู่ภายใต้กรอบดังกล่าว
อ้างอิง
https://siamrath.co.th